วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552


::: เศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร :::
“เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดรวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ทางสายกลาง คำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่หลากหลายและไม่ชัดเจน ถึงความหมายและหลักแนวคิดที่แท้จริงของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงได้จัดทำหนังสือ “เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะอธิบายความหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งกรอบแนวคิดของหลักปรัชญาฯ ที่มุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา อันมีคุณลักษณะ ที่สำคัญ คือ สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ตลอดจนได้อธิบายคำนิยามของความพอเพียง ที่ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม
นอกจากนี้ ภายในหนังสือเล่มนี้ยังได้กล่าวถึง ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยแบ่งได้เป็นแบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ซึ่งมีอยู่ ๓ ขั้น และในตอนท้ายของหนังสือยังได้สรุปถึงการสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่ สศช. ได้ริเริ่มดำเนินการเพื่อเป็นการเสริมสร้างให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนชาวไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น